ผู้มีปัญหาสุขภาพจิตหรือภาวะจิตใจที่ไม่เป็นสุข อาจส่งผลให้เกิดความผิดปกติของจิตใจ พฤติกรรม อารมณ์ บุคลิกภาพ จนเกิดเป็นโรคทางจิตเวช ซึ่งส่งผลต่อการดำเนินชีวิต การทำงาน การเรียน แต่ความผิดปกติเหล่านี้ สามารถรักษาได้ด้วยยา ซึ่งยาจะช่วยให้ผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีคุณภาพ
ยาจะไปช่วยอะไรได้บ้าง
• ปรับสมดุลของสารเคมีในสมองให้อยู่ในภาวะสมดุล
• อาการทางจิตสงบลง
• ลดอาการกระวนกระวาย หวาดระแวง หลงผิด
• ลดความเครียด ความวิตกกังวล และอาการซึมเศร้า
• ช่วยให้นอนหลับได้

ข้อควรรู้เกี่ยวกับยารักษาโรคจิตเวช
- ยาจิตเวชไม่ได้ออกฤทธิ์เร็วเหมือนยาแก้ปวด อาจต้องใช้เวลาเป็นสัปดาห์หรือเป็นเดือนกว่าจะเห็นผลการรักษาว่าตอบสนองยาดีหรือไม่
- ยาจิตเวชไม่ทำให้เกิดอาการติดยา สามารถรับประทานเป็นระยะเวลานานได้ ภายใต้คำแนะนำของแพทย์
- ยาจิตเวชมีทั้งชนิดเม็ด ชนิดน้ำ ชนิดฉีดที่มีฤทธิ์สั้น และชนิดฉีดที่มีฤทธิ์นาน สามารถควบคุมอาการได้เป็นเดือน แพทย์จะเป็นผู้พิจารณาการเลือกใช้ยาให้เหมาะกับอาการและโรคของผู้ป่วย
- ยาจิตเวชอาจทำให้เกิดผลข้างเคียง เช่น มีอาการน้ำลายมาก ลิ้นแข็ง มือสั่น ผู้ป่วยไม่ต้องตกใจหรือกังวลใจ หากพบว่าเกิดผลข้างเคียงจากยา ควรปรึกษาแพทย์ทันที
การดูแลเมื่อเกิดอาการข้างเคียงของยา ผู้ป่วยควรปฏิบัติตัวเมื่อเกิดอาการข้างเคียงของยา ดังนี้
ง่วงซึม ง่วงนอนมาก : ไม่ควรขับรถหรือทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักรอาจเกิดอันตรายได้ควรปรึกษาแพทย์ เพื่อลดหรือเปลี่ยนยา
ปากแห้ง : ควรบ้วนปาก จิบน้ำ หรือน้ำมะนาวบ่อยๆ เพื่อให้ปากชุ่มชื่น
ท้องผูก : ควรรับประทานผัก ผลไม้ และดื่มน้ำมากๆ พยายายามเพิ่มการเคลื่อนไหวหรือออกกำลังกายทุกวัน
คลื่นไส้ : ควรทำความสะอาดปากและฟัน ดื่มน้ำผลไม้รสเปรี้ยวหรืออมลูกอม
พฤติกรรมเชื่องช้าลง : ระมัดระวังการหกล้มหรือการเกิดอุบัติเหตุ
ลิ้นคับปาก น้ำลายไหล : ดูแลเรื่องความสะอาด พยายามควบคุมอารมณ์ไม่ให้หงุดหงิด เวลาสื่อสารกับผู้อื่นควรพูดช้าๆ เพื่อให้ผู้อื่นเข้าใจ
การปฏิบัติตัวของผู้ที่ได้รับยาจิตเวช
- เข้ารับการรักษา ควรแจ้งข้อมูลเหล่านี้แก่แพทย์ผู้ตรวจรักษาให้ทราบเสมอ
• ประวัติการแพ้ยา หรืออาการไม่สบายเมื่อได้รับยาชนิดใด
• โรคที่เคยเป็น หรือยังเป็นอยู่
• ยาที่กำลังใช้อยู่ รวมถึงอาหารพิเศษหรือาหารเสริมใดๆ ที่กำลังรับประทานอยู่
• การตั้งครรภ์และการให้นมบุตร
• กำลังจะเข้ารับการรักษาฟันหรือผ่าตัด - รับประทานยาตามแพทย์สั่งสม่ำเสมอ แม้ว่าอาการจะทุเลาหรือมีท่าทางหรือมีพฤติกรรมที่เป็นปกติแล้วก็ตาม เพื่อป้องกันไม่ให้อาการกำเริบ
- ไม่ควรลดหรือเพิ่มยา หรือหยุดรับประทานยาเอง
- ไม่แบ่งยาให้ผู้อื่นรับประทาน เนื่องจากเป็นยาเฉพาะบุคคลเท่านั้น
- งดสิ่งเสพติดมึนเมาทุกชนิด เช่น เหล้า เบียร์ ยาดอง กัญชา ยาบ้า
- พบแพทย์ตามนัด หากมีอาการเปลี่ยนแปลง ควรแจ้งแพทย์ทราบทุกครั้ง
- ไม่ควรใช้ยาใดๆ โดยไม่ได้ปรึกษาแพทย์หรือเภสัชการก่อน
- อ่านวิธีใช้ยาบนฉลากยาให้เข้าใจก่อนใช้ยาทุกครั้ง
- ใช้ยาตามขนาด วิธี และกำหนดระยะเวลาตามที่แพทย์สั่ง
- หากมีอาการผิดปกติระหว่างใช้ยา เช่น มีผื่นคัน แดง หน้าบวม คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเดิน หรือหายใจลำบาก ควรกลับมาพบแพทย์ทันทีพร้อมกับนำยาที่ใช้มาด้วย
- ยาเกือบทุกชนิดมีฤทธิ์ข้างเคียงที่นอกเหนือจากฤทธิ์สำคัญที่ต้องการ และอาจเกิดขึ้นกับคนแต่ละคนไม่เหมือนกัน หากผู้ใช้ยามีปัญหาของฤทธิ์ข้างเคียงที่เกิดขึ้นนั้น ควรแจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบ เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว